การออมเงินเรื่องง่ายๆ จริงหรือ?
“การออมเงิน” หรือเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายหรือแผนที่เราวางไว้ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ พอได้เงินมาก็แบ่งส่วนหนึ่งเอาไปฝากธนาคารไว้ก็จบ เดี๋ยวเก็บได้สักก้อนหนึ่งก็พอแล้ว โอแล้ว แต่คุณแน่ใจหรือว่ามันจะจบเท่านั้นจริงๆ หากมันเป็นเรื่องง่ายขนาดนั้นคงไม่ได้เห็นหนังสือเกี่ยวกับการหาเงิน เก็บเงิน หรือบริหารเงินออกมาวางอยู่ตามแผงหนังสือกันมากมายหรอกนะครับ หรือแม้แต่บทกลอนที่ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน”
บทกลอนนี้ผมว่ายังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยนะครับ ยิ่งกับภาวะการณ์ในปัจจุบันด้วยแล้ว กว่าจะหาเงินมาได้แต่ละบาทแสนยาก เมื่อหามาได้ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่า และแบ่งออมหรือเก็บไว้สำหรับอนาคตด้วย ไม่ใช่ใช้แบบเดือนชนเดือน บอกกันแบบง่ายๆ ละกันนะครับ การออม ตามความหมายของ พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน ปีพ.ศ. 2525 คือ “การประหยัด การเก็บหอมรอบริบ การถนอม และการสงวน สิ่งที่จะประหยัด หรือเก็บหอมรอบริบ ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง” หากมองกว้างๆ ก็คือ การเตรียมตัวอย่างหนึ่ง (ผมมุ่งประเด็นไปที่จำนวนของตัวเงินนะครับ) เพื่อไว้ใช้จ่ายในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราในแง่ของฐานะทางการเงิน หรือสุขภาพ โดยเป็นการกันรายได้บางส่วน
ที่เราหาได้ในวันนี้เก็บไว้ในธนาคาร หรือนำไปลงทุนในกองทุน หรือเก็บในรูปของการออมทรัพย์กับบริษัทประกัน ซึ่งปัจจุบันไม่เฉพาะแต่บริษัทประกันเท่านั้นที่เสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับเราๆ ท่าน แม้กระทั่งธนาคารเองก็ร่วมมือกับบริษัทประกันในการออกรูปแบบการออมทรัพย์ในแบบต่างๆ มาเสนอให้กับเรา ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้การออมในรูปแบบอย่างที่สองนี้ควบคู่ไปกับการฝากเงินกับธนาคาร แต่ไม่ได้หมายความว่าการออมจะมีรูปแบบเพียงสองอย่างนี้นะครับ ปัจจุบันมีมากมายหลายช่องทางในการออม เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล การซื้อหลักทรัพย์ หรือการซื้อกองทุน เป็นต้น
แล้วการออมแต่ละวิธีนั้นเราจะเลือกอย่างไร ให้เหมาะกับเราล่ะ อันนี้เราก็ต้องศึกษาเงื่อนไขของรูปแบบการออมแต่ละชนิดให้ดีก่อนนะครับ เพราะหากยังไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจในเรื่องใดๆ แล้วอย่าผลีผลามไปลงทุนหรือเลือกรูปแบบนั้นๆ เพราะหากบางครั้งถ้าเราสังเกตุจากโฆษณา ในตอนท้ายมักจะมีคำเตือนว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดพิจารณาและศึกษาก่อ่นตัดสินใจลงทุน” อย่างนี้คุณผู้อ่านเองคงถามว่า เอ้า..แล้วนาย (หมายถึงตัวผม) เลือกหรือตัดสินใจอย่างไรล่ะ สำหรับผมๆ ใช้การเปรียบเทียบผลตอบแทนกับการฝากเงินกับธนาคารครับ ว่าด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันและอัตราผลตอบแทน หรือดอกเบี้ย นั้นเมื่อคำนวณในระยะเวลาที่ต้องการแล้วอย่างไหนให้ผลตอบแทนมากกว่า ผมเลือกอันนั้น ซึ่งคุณเองก็คงบอกว่า ตอบแบบนี้มันง่ายนิดเดียวเพราะทุกวันนี้ดอกเบี้ยธนาคารถูกจะตายไป หนำซ้ำยังหักภาษีอีก ถูกครับแต่ผมบอกไว้ในตอนต้นแล้วว่า ผมเลือกการออมในแบบสอง คือ การลงทุนกับบริษัทประกัน โดยซื้อกรมธรรม์ในรูปแบบการออมทรัพย์ครับ ซึ่งมากกว่า 1 ฉบับแน่ และผมก็มาเปรียบเทียบของแต่ละแบบว่าแบบไหนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือใกล้เคียงกัน โดยผมเองสามารถออมได้และไม่กระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันครับ นอกจากนี้คุณเองก็สามารถนำใบเสร็จหรือยอดของการออมนั้นๆ ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย หากจำไม่ผิด ปัจจุบันอยู่ที่ 50,000 บาท (หากผิดพลาดประการใดกรุณาแจ้งผมหน่อยนะครับ) ซึ่งหากคนที่ทำงานประจำก็จะสามารถนำตัวเลขเหล่านี้ไปปรึกษาฝ่ายบุคคลเพื่อวางแผนเรื่องภาษีได้อีกด้วยนะครับ
เอาล่ะครับถึงตรงนี้คงได้เห็นภาพกันสักเล็กน้อยแล้วนะครับว่าเราควรทำอย่างไรกับ “การออมเงิน” ซึ่งอาจจะไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หลักๆ ผมเห็นว่าเราต้องมีความมุ่งมั่นและมีวินัยในการออมเป็นอันดับแรกๆ เลยล่ะครับ จากนั้นก็มาดูรายได้ของเราควบคู่กับรายจ่าย และวางแผนว่าเราควรจะเก็บออมอย่างไร เท่าไร และดูวิธีการออมเป็นลำดับต่อไป หวังว่าคุณคงได้ไอเดียกันบ้างนะครับว่าจะออมเงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไว้พบกันในบทความหน้านะครับ
น่าสนใจและให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์มากครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะครับ