กรอบความคิดเรื่องเงิน
คนเรามักจะติดอยู่กับความคิดเดิมๆ “เราเรียนหนังสือเก่งๆ ได้ทำงานดีๆ ตั้งใจทำงาน เราจะก้าวหน้าในอาชีพ” เมื่อนั้นจะมีเงินเก็บเพื่อตัวเรา แต่เมื่อถึงตอนนั้นเรารู้สึกตัวแล้วว่า “เราแก่ลง” นั่นเอง นี่เหรอที่เราพยายามมาทั้งชีวิต คุณอาจไม่ได้คิดอะไรมาก แต่นี่เป็นวิถีหรือแนวคิดที่คนส่วนใหญ่เลือกและทำมาโดยตลอดระยะเวลาเลยก็เป็นได้ ซึ่งหากมองกันดีๆ รายได้ของเราๆ ท่านๆ นั้นมีอยู่ 2 แบบหลักๆ คือ รายได้ชั่วคราว และรายได้ถาวร รายได้อย่างไหนเป็นยังไง เรามาดูกัน….
รายได้ชั่วคราว สำหรับคุณแล้วคืออะไรได้บ้าง เช่น ค่านายหน้า เบี้ยเลี้ยงต่างๆ เงินรางวัลจากการเสี่ยงโชคประเภทต่างๆ รู้จักกันดีในนามของ ล็อตตารี่ (เอ..เขียนถูกไหมเนี่ย?) และอื่นๆ ที่ได้มาในช่วงสั้นๆ และจบไป แต่สำหรับผมๆ จะมองไปถึงเงินเดือน หรือการเป็นลูกจ้างด้วย เพราะอะไรน่ะเหรอ? ก็เพราะเมื่อใดที่คุณทำงานไม่ได้ เมื่อนั้นรายได้เหล่านี้ก็จะหดหายไปด้วยยังไงล่ะครับ สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ เราสามารถสร้าง “รายได้ถาวร” ให้กับตัวเราได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้รวยหรือคิดว่าเป็นเรื่องที่
เป็นไปไม่ได้ เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะหากเรารู้จักคำว่า “ประหยัด” และนำเงินที่หามาได้แบ่งออกสามส่วนเป็นอย่างน้อย เช่น มีรายได้ 1000 ก็แบ่งไว้สำหรับ ค่าใช้จ่ายคงที่หรือเกิดเป็นประจำ 300 สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน 500 และเก็บออม 200 (ผมสมมุติตัวเลขกลมๆนะ จะได้ไม่ยุ่งยากในการคิด) จากนี้ก็จะเป็นการสร้างรายได้ถาวรกันหล่ะ นั่นก็คือนำเงิน 200 บ.ไปลงทุนสัก 100-150 บ.ที่เหลือไว้ยามฉุกเฉิน เรียกว่าเป็นการนำเงินไปต่อเงิน เพราะในปัจจุบันการฝากไว้ในธนาคารแต่เพียงอย่างเดียวดูจะไม่เป็นการดีนัก ดังนั้นคุณจะเห็นว่าในทุกวันนี้ จะมีรูปแบบการออมหลากหลายที่บรรดาบริษัทประกัน หรือธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ นำเอากลยุทธ์ต่างๆ มานำเสนอให้แก่เราๆ ท่านๆ มากมายหลายแบบ นั่นก็เป็นรูปแบบการนำเงินต่อเงินอย่างที่เรากำลังพูดถึงกันตอนนี้เช่นกัน
การเก็บออมในแบบข้างต้น ก็ถือเป็นการลงทุนเช่นกัน เพราะคุณจะต้องมีวินัยทางการเงินพอดูเลย เพื่อจะได้เก็บออมในรูปแบบที่คุณเลือก อาจจะเป็นการทำประกันแบบออมทรัพย์ โดยส่งเงินเป็นรายปี รายเดือน แล้วแต่จะเป็นแบบไหน โดยคุณเองก็สามารถนำเอาค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้มาช่วยในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกทางหนึ่ง แต่หากคุณถามว่า แล้วถ้าเรารายได้ไม่ได้มากจนมีภาษีต้องเสีย เราก็เสียสิทธิอันนี้ไปเปล่าๆ น่ะเหรอ สำหรับผมในตอนนี้คงบอกได้แต่เพียงว่า “ใช่ครับ” คุณอาจจะถามมาว่า แล้วมีประโยชน์อะไรที่จะเก็บเงินด้วยวิธีนี้ล่ะ ผมบอกได้เลยว่า “มีครับ” ตรงไหนน่ะเหรอ ก็ตรงที่คุณได้เก็บเงินไงล่ะครับและไม่ต้องหักภาษีด้วย เมื่อครบอายุสัญญาคุณก็รับเงินไปตามเงื่อนไขที่คุณลงทุนไปแล้วเมื่อได้เงินกลับมาก้อนหนึ่งคุณก็จะนำไปต่อยอดได้อีก แต่อาจจะเป็นรูปแบบอื่นที่ ณ ช่วงเวลาดังกล่างนั้นเหตุการณ์หรือภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นจะเป็นตัวบอกให้กับคุณเอง
ดังนั้นเริ่มต้นประหยัดเสียแต่วันนี้ แล้วคุณก็จะไม่ต้องมาอยู่ในกรอบความคิดเรื่องของเงินอีกต่อไป ไม่มีใครทำแทนคุณได้ คุณเท่านั้นที่จะเป็นคนเริ่มต้น และสัมผัสกับผลผลิตที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้คุณก็ควรศึกษาแหล่งลงทุนของคุณก่อนตัดสินใจนะครับ และผมอยากแนะนำให้คุณลองอ่านหนังสือเรื่อง “เงินสี่ด้าน” ดูนะครับ ให้แง่คิดที่ดีไม่น้อยเลย แล้วพบกันในบทความหน้านะครับ…..